เด็กๆ เป็นมากกว่า ‘ผู้ใหญ่ตัวเล็กๆ’ อ่านคำแนะนำของเราว่า ทำอย่างไรให้ลูกๆ คุณมีสุขภาพดี
การทำให้เด็กมีสุขภาพดี
เด็ก ไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็กๆ – เด็กมีความต้องการอาหารที่เหมาะสมกับวัยและต่อสู้กับสภาวะต่างๆ ที่มีผลต่อสุขภาพ ต่อไปนี้คือ คำแนะนำที่จะช่วยลูกหลานของคุณให้ผ่านวิกฤติทางสุขภาพที่พบได้บ่อย
ภูมิต้านทาน
ความสามารถของเด็กในการต่อสู้และหายจากโรค ขึ้นอยู่กับระบบภูมิต้านทานในตัวเด็กว่าทำงานได้ดีแค่ไหน ภูมิต้านทานที่แข็งแรง สำคัญต่อสุขภาพโดยรวมและความแข็งแรง และยังปกป้องเขาจากเชื้อโรคด้วย
โชคไม่ดีที่เด็กจำนวนมากมักจะเป็นโรคติดเชื้อซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงเวลาหนึ่ง – ที่เป็นกันบ่อยที่สุด คือ การอักเสบของหูชั้นกลาง รวมทั้งการติดเชื้อในช่องอก ทางเดินอาหารและผิวหนัง การติดเชื้อซ้ำๆ เป็นสัญญาณบอกกล่าวว่าการทำงานของภูมิต้านทานถดถอยลง – โชคดีที่เรามีวิธีมากมายในการช่วยลูกหลานของคุณให้มีภูมิต้านทานที่ดีได้ เช่น การให้สารอาหารและยาสมุนไพรที่กระตุ้นภูมิต้านทาน รวมทั้งการปรับเปลี่ยนโภชนาการ
โภชนาการ/ กินยาก
พ่อแม่มักจะต้องกังวลกับอาหารของลูก หลายคู่กังวลว่า ลูกอาจจะไม่ได้รับประทานอาหารเพียงพอ หรือรับประทานสิ่งที่ควรจะรับประทานไม่มากพอ 8 ใน 10 ของพ่อแม่ชาวออสเตรเลียน กังวลกับนิสัยการกินของลูก และ 1 ใน 3 กังวลว่า ลูกรับประทานน้อยไป เด็กเล็กไม่ได้ตั้งใจอดอาหาร แค่จู้จี้ในการกินซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ การช่วยให้เด็กรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ตั้งแต่เล็ก จะช่วยให้เด็กเติบโตแข็งแรงและมีสุขภาพดี
การเรียนรู้ & สมาธิ
เด็กมีพัฒนาการทางสมองตลอดวัยเด็กของพวกเขา บางส่วนของสมองยังไม่พัฒนาเต็มที่จนเข้าสู่วัยรุ่น 15 - 17 ปี และบางส่วนก็ไม่สมบูรณ์จนกว่าจะเป็นผู้ใหญ่ การเรียนรู้และการมีสมาธิมักจะเป็นปัญหาพบได้บ่อยในวัยเด็ก และอาจจะเป็นน้อยหรือเป็นมากแตกต่างกัน สมาธิและการเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสมองที่แยกจากกัน แต่ก็เกี่ยวข้องกัน ต้องการซึ่งกันและกัน โภชนาการสำคัญต่อการพัฒนาของสมอง มันมีผลต่อโครงสร้างของสมอง ปริมาณและชนิดของสารสื่อประสาทที่ผลิตขึ้น ซึ่งมีอิทธิพลต่อการทำงานของสมอง
เด็กที่ร่าเริง
ถ้าเด็กมีกิจกรรมที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวมาก เช่น ดูทีวี ดีวีดี เล่นคอมพิวเตอร์ แทบเล็ต และโทรศัพท์มือถือมักจะเป็นเด็กที่เสี่ยงต่อการมีน้ำหนักเกินและอ้วน
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเวลาที่ใช้ไปในการนั่งหน้าจอทีวีได้เอาเวลาที่เขาควรจะออกไปทำกิจกรรมที่ใช้ร่างกาย เด็กที่ดูทีวีมากกว่าวันละสองชั่วโมงมักจะได้อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ รับประทานอาหารขบเคี้ยวที่มากไปด้วยน้ำตาล เกลือ ไขมัน ระหว่างดูทีวี
คุณควรกระตุ้นให้เด็กมีกิจกรรมใช้ร่างกายทุกวันและให้อาหารที่สมดุล อาหารว่างที่มีประโยชน์ จะเป็นผลดีกับสุขภาพและความแข็งแรงของเด็ก
การรักษาด้วยธรรมชาติ
มีหลากหลายการรักษาด้วยธรรมชาติที่จะช่วยลูกของคุณได้ ด้านล่างคือบางส่วนซึ่งเป็นที่นิยม
กรดไขมันจำเป็น โอเมก้า-3 มีความสำคัญต่อการทำงานของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำ การเรียนรู้และการให้เหตุผล น้ำมันปลาเป็นสารเสริมอาหารที่มี โอเมก้า-3 และอาจช่วยทำให้สมาธิ การนอนหลับ และพฤติกรรมของเด็กดีขึ้น
สังกะสี - จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการและภูมิต้านทานที่แข็งแรง สังกะสียังอาจช่วยลดความซน และลดการขาดสมาธิในเด็ก
เหล็ก – สำคัญต่อระบบภูมิต้านทานที่แข็งแรง และช่วยนำส่งออกซิเจนไปทั่วร่างกาย การมีระดับธาตุเหล็กต่ำมีความสัมพันธ์กับปัญหาสมาธิ
วิตามินรวม – การเสริมวิตามินรวมให้กับเด็กเพื่อให้แน่ใจว่า เด็กจะได้รับสารอาหารที่สำคัญครบถ้วน เนื่องจากอาจจะได้ไม่ครบจากอาหาร
การควบคุมอาหารและวิถีชีวิต
การควบคุมอาหาร
เพื่อสุขภาพที่ดี สนับสนุนให้ลูกรับประทานแต่อาหารสุขภาพ ที่สมดุล เป็นของสด อาหารเต็มส่วนซึ่งใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด
ให้มีความหลากหลายของผลไม้และผักสด ธัญพืชปลอดการขัดสี
ต้องแน่ใจว่า ลูกได้รับโปรตีนในปริมาณที่เพียงพอ ดีที่สุดคือจากเนื้อสัตว์ที่ปราศจากไขมัน ผลิตภัณฑ์จากนม ไก่ ปลา (โดยเฉพาะปลาที่มีน้ำมัน เช่น แซลมอน และทูน่า) ถั่วเปลือกแข็ง เมล็ดพืชและไข่ โปรตีนจำเป็นต่อการสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อ และจำเป็นต่อระบบภูมิต้านทานที่แข็งแรง
ในอาหารควรมีนมเปรี้ยวและสารรสขมร่วมด้วย (ปกติจะถูกกลบรสไว้)
หลีกเลี่ยงสารก่อการแพ้ที่รู้ สิ่งที่มักก่อเกิดปัญหาในอาหาร คือ สารแต่งสีแต่งกลิ่นสังเคราะห์ น้ำตาล ข้าวสาลี (กลูเต็น) นมวัว (คาซีน) และซาลิไซเลท
หลีกเลี่ยงอาหารทอดและอาหารแปรรูป
หลีกเลี่ยงน้ำตาล และขนมหวาน เช่น อมยิ้ม ช็อคโกแลต น้ำอัดลม เค้ก คุกกี้หวาน และเครื่องดื่มชูกำลัง น้ำตาลเป็นตัวกดภูมิต้านทาน และมีผลเสียต่อสมาธิของเด็ก พฤติกรรม และน้ำหนัก
คำแนะนำพิเศษสำหรับเด็กรับประทานอาหารยาก
จงยืนหยัด - งานวิจัยแสดงว่า บางทีคุณต้องพยายามถึง 10 ครั้ง ลูกจึงยอมลองรับประทานอาหารชนิดใหม่
เป็นตัวอย่างที่ดี - เด็กๆ เลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ จงเป็นตัวอย่างที่ดีโดยรับประทานอาหารสุขภาพที่หลากหลายและรับประทานด้วยกันกับลูกๆ
กำหนดเวลาอาหารให้เป็นกิจวัตร – พยายามรับประทานอาหารที่เวลาเดิมทุกวัน
ใจเย็น – อย่ากังวลว่าลูกรับประทานอาหารไม่พอเพียง เพราะเด็กไม่ยอมอดอาหารอยู่แล้ว
ทำให้การรับประทานเป็นเรื่องสนุก! ลองตัดอาหารให้เป็นรูปร่างต่างๆ ด้วยที่ตัดคุกกี้ เสิร์ฟผักพร้อมกับซอสหรือน้ำจิ้มที่ถูกใจ จัดวางอาหารที่มีสีสดใสหลายๆ สีให้น่าสนใจบนจาน แล้วให้เจ้าตัวน้อยเลือกเองว่าจะรับประทานอะไรก่อน
จงสร้างสรรค์! ถ้าลูกปฏิเสธการรับประทานผัก – จงใช้เล่ห์กล ซ่อนมันไว้ในซอสสปาเกตตี้ ลูกชิ้นเนื้อ อาหารตุ๋นและแกงจืด เป็นต้น
อย่าตะโกน บ่นหรือขู่เด็กระหว่างการรับประทานอาหาร ต้องทำให้อาหารทุกมื้อสนุกสนานและมีครอบครัวอยู่ครบ
อย่าใช้ของหวาน ลูกอม ช็อคโกแลต หรือ ของอื่นล่อให้รับประทาน ถ้าจำเป็น – ใช้ของอื่นที่ไม่ใช่อาหาร
การใช้ชีวิต
การนอนหลับ
การนอนหลับและการพักผ่อนที่เพียงพอจำเป็นต่อสุขภาพและความแข็งแรงของเด็ก การนอนหลับช่วยซ่อมแซมร่างกายและทำให้จิตใจผ่องใส หากนอนหลับไม่เพียงพอจะทำให้เกิดความเหนื่อยล้า มีผลเสียต่อสมาธิ ความจำและการเคลื่อนไหวร่างกาย
แสงแดด
เด็กๆ ก็เหมือนกับต้นไม้ที่ต้องการแสงแดด พยายามให้เด็กได้รับแสงแดดวันละ 15 นาที
จำกัดเวลาหน้าจอ
เด็กไม่ควรใช้เวลาหน้าจอเล็กๆ เช่น ทีวี คอมพิวเตอร์ ไอแพด โทรศัพท์มือถือ เกินสองชั่วโมงต่อวัน
ออกไปเล่นนอกบ้าน
เด็กๆ จำเป็นต้องได้เล่นในบรรยากาศธรรมชาติ เช่น สวนสาธารณะ ชายหาด และ ชนบท บ่อยเท่าที่จะทำได้ การได้เล่นนอกบ้านในสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติอาจช่วยให้การเรียนรู้ พฤติกรรม และสมาธิของเด็กดีขึ้น
ออกกำลังทุกวัน
การออกกำลังร่างกายทุกวันอย่างสม่ำเสมอจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดีและความแข็งแรง
ตั้งเป้าออกกำลังวันละ 30-60 นาที
ให้เด็กมีทั้งการออกกำลังแบบปานกลางและแบบหนักในหนึ่งสัปดาห์ ออกกำลังปานกลาง เช่น เดินเร็ว ขี่จักรยาน เล่นสเก็ตบอร์ด และเต้นรำ ส่วนออกกำลังแบบหนักเช่นเล่นฟุตบอล หรือ เน็ตบอล
จงมีส่วนร่วม – พ่อแม่เองก็ต้องมีกิจกรรมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วย ไม่เพียงแต่จะดีต่อสุขภาพ – แต่งานวิจัยได้แสดงว่าถ้าพ่อแม่มีการออกกำลังกาย จะทำให้เด็กออกกำลังกายมากขึ้น
ให้ทั้งครอบครัวมีส่วนร่วม – ไปว่ายน้ำหรือไปเดินเล่นด้วยกัน เล่นกีฬา เช่น ฟุตบอล และคริกเก็ตในสวนหลังบ้าน ไปขี่จักรยาน หรือพาสุนัขไปเดินเล่นด้วยกัน
พาลูกไปเข้าฝึกโยคะสำหรับเด็ก – โยคะมีประโยชน์กับเด็กในด้านสมาธิ พฤติกรรมและความตั้งใจ