ทำไมการออกกำลังกายจึงเป็นมากกว่ากิจกรรมเสริมสร้างกล้ามเนื้อ นักสรีรศาสตร์การออกกำลังกาย Andrew Cate จึงได้ค้นคว้าในงานวิจัยล่าสุดและสรุปวิธีที่ดีที่สุดที่จะฝึกฝนสมองของคุณให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น
การออกกำลังกายและการทำงานของสมอง
มีการทำการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจบทบาทของการออกกำลังกายในการพัฒนาสุขภาพสมองในหลายๆ ด้าน โดยงานวิจัยบ่งชี้ว่า ปริมาณการรับออกซิเจนที่มากขึ้นนั้นสัมพันธ์กับการออกกำลังกายแบบแอโรบิคซึ่งเชื่อมโยงไปถึงปริมาณเลือดหล่อเลี้ยงสมองที่มากขึ้นและมีคุณประโยชน์ในกระบวนการเรียนรู้
โดยงานวิจัยล่าสุดนั้นมุ่งเน้นไปที่สมองส่วนฮิปโปแคมปัสซึ่งถูกระบุว่าเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาพพลาสติกของระบบประสาทซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความสามารถในการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวของสมองของเรา
เป็นที่รู้กันว่า สมองส่วนฮิปโปแคมปัสนั้นไวต่อผลกระทบจากกิจกรรมทางกายภาพโดยเฉพาะหลอดเลือดและการออกกำลังกายแบบแอโรบิค
การออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อสมองอย่างไร
งานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Neuroimage มีการสแกนสมองเพื่อสำรวจหาผลของการออกกำลังกายแบบแอโรบิคที่มีต่อสมองส่วนฮิปโปแคมปัส
หลังจากที่ได้ทบทวนงานวิจัย 14 ชิ้น ที่มีผู้เข้าร่วม 737 ราย ผู้เขียนงานวิจัยพบว่า การออกกำลังกายแบบแอโรบิคนั้นมีผลดีเป็นอย่างยิ่งต่อส่วนซ้ายของฮิปโปแคมปัสในกลุ่มผู้ใหญ่มีอายุที่สุขภาพดี
โดยงานวิจัยหนึ่งสำรวจผลจากการออกกำลังกายในกลุ่มผู้ใหญ่อายุน้อยไปจนถึงวัยกลางคนและพบว่า ปริมาณโดยรวมของฮิปโปแคมปัสไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่พบว่า ปริมาณฮิปโปแคมปัสส่วนหลังเพิ่มมากขึ้นหลังจากออกกำลังกายแบบแอโรบิคไป 6 สัปดาห์
นักวิจัยกล่าวว่า เราสามารถเห็นผลดีที่เกิดขึ้นต่อสมองจากการออกกำลังกายได้ เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นเพราะร่างกายของเรามีการชะลอ หรือป้องกันการสูญเสียปริมาณของสมองที่จะเกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป อาจเรียกได้ว่า การออกกำลังกายนั้นช่วยลดการสูญเสียมวลประสาทและป้องกันความเสื่อมตัวในการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราสูงวัยมากขึ้น
เราจะฝึกฝนสมองของเราได้อย่างไร
เรารู้กันว่าการรักษาสุขภาพของหลอดเลือดหัวใจนั้นทำให้การทำงานของสมองดีขึ้น การออกกำลังกายตามโปรแกรมอย่างสม่ำเสมอ (โดยเน้นที่การออกกำลังกายแบบแอโรบิค) จะช่วยรักษาสุขภาพกายและจิตใจในระยะยาว
แม้ว่าในตอนนี้เรายังไม่สามารถกำหนดตายตัวได้ว่า ต้องออกกำลังกายอย่างไรเพื่อยกระดับสมอง เนื่องจากต้องมีการทำวิจัยที่มากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม มีสิ่งสำคัญที่ให้คุณพิจารณาไปปรับใช้กับโปรแกรมการกออกกำลังกายของคุณ
เพิ่มการเคลื่อนไหวที่เป็นจังหวะและต่อเนื่อง
การออกกำลังกายประเภทที่ปรากฏในงานวิจัยนี้ถูกนิยามว่า เป็นกิจกรรมกายภาพที่มีการวางแผน มีโครงสร้างและทำซ้ำๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างเสริมหรือรักษาสุขภาพ
ให้เลือกทำกิจกรรมที่เป็นจังหวะ มีความต่อเนื่อง และทำให้เพิ่มความต้องการออกซิเจนของร่างกาย (กิจกรรมแอโรบิค) เช่น การเดิน การปั่นจักรยาน การวิ่ง การว่ายน้ำ และการพายเรือ
ทำให้กิจวัตรการออกกำลังกายมีความหลากหลาย
ในงานวิจัยที่ได้ทำการศึกษา 14 ชิ้นนั้น มีรายงานว่า ความเข้มข้น ความถี่ และระยะเวลาของโปรแกรมการออกกำลังกายที่มีความหลากหลาย มีอิทธิพลต่อปริมาณสมองส่วนฮิปโปแคมปัส
ดังนั้น จนกว่าจะมีงานวิจัยเพิ่มเติมออกมา เราจึงควรลองใช้กลยุทธ์ในการออกกำลังกายหลากหลายแบบเข้าไว้ก่อน
งานวิจัยล่าสุดนั้นชี้ให้เห็นว่า การฝึกฝนร่างกายที่มีความเข้มข้นในแต่ละรอบนั้นก่อให้เกิดผลดีต่อระบบหลอดเลือดหัวใจคล้ายกับการฝึกฝนความอดทนระยะเวลานานในช่วงเวลาสั้นๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะเพิ่มการฝึกฝนเป็นระยะๆ และเคลื่อนไหวแบบคาร์ดิโอแบบสม่ำเสมอในกำหนดการออกกำลังกายแต่ละสัปดาห์ ก็น่าจะเป็นความคิดที่ดีเช่นกัน
ออกกำลังกายให้เป็นนิสัย
สุขภาพของสมองนั้นเสื่อมถอยไปตามอายุขัย แต่การออกกำลังจะช่วยชะลอ หรือแม้แต่ทำให้สมองมีสุขภาพดีขึ้นได้
การออกกำลังกายให้ผลลัพธ์ที่ดีตลอดทั้งชั่วอายุขัยของเรา แต่เราก็อาจต้องปรับตัวเมื่อเวลาผ่านไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากรู้สึกว่าวิ่งแล้วทำให้เจ็บที่ข้อต่อ ก็อาจต้องเปลี่ยนไปทำกิจกรรมออกกำลังกายแบบอื่นที่มีผลกระทบต่อข้อต่อน้อยกว่า เช่น การเดิน ขี่จักรยาน หรือว่ายน้ำแทน