หากถามใครก็ตามที่เป็นโรคไมเกรน พวกเขาจะบอกคุณว่ามันเป็นมากกว่าแค่อาการปวดหัว นักธรรมชาติบำบัด สเตฟานี แฮมิลตัน ได้เสนอเคล็ดลับในการรับมือกับการปวดไมเกรนโดยไม่ต้องใช้ยา
เพิ่มความผ่อนคลายและพักผ่อนให้มากขึ้น
หากคุณเป็นไมเกรน คุณอาจเคยมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย: คลื่นไส้ อาเจียน มีความไวต่อแสง กลิ่นและเสียง การบีบตัวของลำไส้ผิดปกติ อารมณ์เปลี่ยนแปลง อารมณ์ต่ำ หงุดหงิด กล้ามเนื้อตึง เบื่ออาหาร และอ่อนล้า
ไมเกรนสามารถมีอาการอยู่ได้นานหลายวัน และอาจทำให้ร่างกาย สังคม และอารมณ์ ทรุดโทรมได้ โดยคนส่วนใหญ่จะอาการดีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสามารถนอนในห้องมืดๆ และเงียบสงบ
ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชาย
มีชาวออสเตรเลียมากถึง 3 ล้านคนต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคไมเกรน และพบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึงสามเท่า ความผันผวนของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนอาจเป็นตัวกระตุ้น เนื่องจากผู้หญิงมักจะมีอาการไมเกรนกำเริบก่อนมีประจำเดือน ระหว่างวัยเจริญพันธุ์ และในช่วงใกล้หมดประจำเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมากที่สุด
อะไรบ้าง ที่เป็นปัจจัยกระตุ้นไมเกรน?
มีตัวกระตุ้นไมเกรนที่พบบ่อยหลายอย่าง ซึ่งควรหลีกเลี่ยงหากคุณมีอาการไมเกรนจากปัจจัยเหล่านี้ ซึ่งได้แก่:
• ความเครียด – เหตุการณ์ที่ทำให้เครียดสามารถทำให้เกิดอาการไมเกรนได้ พบได้บ่อยที่ไม่เกิดไมเกรนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เพราะเกิดการผ่อนคลายหลังจากทำงานหนักมาหนึ่งสัปดาห์
• การข้ามมื้ออาหารหรืออดอาหาร
• อาหารและเครื่องดื่มบางชนิด – แอลกอฮอล์ ชีส ช็อคโกแลต แอสปาร์แตม คาเฟอีน ผงชูรส อาหารแปรรูปหรืออาหารกระป๋องบางชนิด และซอสที่ใช้ในการปรุงอาหารเอเชีย เป็นตัวกระตุ้นที่พบบ่อยๆ ในผู้ที่ไวต่อการถูกกระตุ้น
• การนอน – นอนน้อยเกินไป นอนมากเกินไป หรือเปลี่ยนรูปแบบการนอน
• สิ่งกระตุ้นทางประสาทสัมผัส – แสงจ้า แสงจ้าจากดวงอาทิตย์ และกลิ่นที่ผิดปกติ (ทั้งกลิ่นดีและกลิ่นไม่ดี)
• การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม – การเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศ ระดับความสูง และการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลโดยทั่วไป สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรนได้
• ยา – ซึ่งรวมถึงยาเม็ดคุมกำเนิด ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเรื่องอาการของคุณ หากรู้สึกว่ายาที่คุณกำลังใช้อยู่กระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรน
จะรักษาไมเกรนด้วยวิธีธรรมชาติได้อย่างไร?
1. แมกนีเซียม
พบว่าก่อนเกิดอาการไมเกรนระดับแมกนีเซียมจะลดลง จึงมีความคิดว่าแมกนีเซียมในระดับต่ำอาจทำให้เซลล์ประสาทในสมองทำงานผิดพลาด ส่งผลให้เกิดอาการไมเกรนได้ แหล่งอาหารที่ดีของแมกนีเซียม ได้แก่ ผักใบเขียวเข้ม ถั่วและเมล็ดพืช ธัญญพืชเต็มเมล็ด พืชตระกูลถั่ว โกโก้ จากการศึกษาพบว่าการเสริมธาตุแมกนีเซียมสามารถช่วยลดความถี่และระยะเวลาของการเกิดไมเกรนได้
2. สมุนไพรบางชนิด
ยาสมุนไพรจะมีไม้พุ่มจำพวก Tanacetum parthenium ใช้สำหรับการรักษาและป้องกันไมเกรน ในการลดการอักเสบ สมุนไพรนี้สามารถป้องกันการหดตัวของหลอดเลือดที่อาจนำไปสู่อาการปวดหัวได้ สมุนไพรประเภทนี้อาจช่วยลดอาการที่เกี่ยวข้องกับไมเกรนได้ เช่น คลื่นไส้และอาเจียน
3. เสริมสร้างพลังงานของเซลล์
นักวิจัยได้ตั้งทฤษฎีว่า ไมเกรนอาจเกิดจากการเผาผลาญพลังงานของเซลล์ในระดับต่ำ เนื่องจากผู้ป่วยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่ามีพลังงานสำรองของเซลล์สมองลดลงระหว่างเกิดอาการไมเกรน พบว่า วิตามินบี โดยเฉพาะ วิตามินบี 2 (ไรโบฟลาวิน) และโคเอนไซม์คิวเทน สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเซลล์ และถูกแนะนำให้ใช้เพื่อป้องกันอาการไมเกรน
เคล็ดลับปรับไลฟ์สไตล์สำหรับใครที่เป็นไมเกรน
• การผ่อนคลาย - เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ควรฝึกการจัดการความเครียด และพยายามนอนหลับให้ได้ตามปกติ
• อาหาร – หลีกเลี่ยงอาหารที่แน่ชัดว่าทำให้เกิดอาการไมเกรน ทำบันทึกอาหารที่รับประทาน การจดบันทึกสิ่งที่คุณกินและดื่มและเวลาที่เกิดอาการไมเกรน อาจช่วยในการบ่งชี้ว่าอาหารประเภทใดมีส่วนทำให้คุณเกิดอาการไมเกรน
• ออกกำลังกายเป็นประจำ – จะช่วยลดความเครียดและช่วยป้องกันอาการไมเกรนได้ อบอุ่นร่างกายอย่างช้าๆ และยืดเหยียดเสมอหลังออกกำลังกาย
• รักษาระดับน้ำตาลในเลือดของคุณให้คงที่ - กินอาหารมื้อเล็ก ๆ บ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงน้ำตาลทราย คาเฟอีนและแอลกอฮอล์
• เลิกสูบบุหรี่ – ควันบุหรี่อาจเป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรนได้ นิโคตินจะทำให้หลอดเลือดในสมองหดตัว ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการไมเกรน
• รักษาน้ำในร่างกาย - ดื่มน้ำ วันละ 2 ลิตร เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดน้ำ