หลายปีที่ผ่านมาช่วงที่โควิดหนักเกินรับมือ ชีวิตของทุกคนก็ผูกติดกับหน้าจอและโลกดิจิทัลแทบทั้งวันทั้งคืนจนปวดตาเพราะออกไปไหนไม่ได้ ต้อง Work From Home หาความบันเทิงผ่านกิจกรรมออนไลน์ มาตอนนี้ที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายจึงไม่แปลกที่การกลับมามองหาความสมดุลให้ชีวิต Digital Wellbeing ด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ นอกจากอยู่แต่บนโลกดิจิทัลอย่างเดียวจึงกลายเป็นคำตอบที่คนยุคใหม่ตามหา
จากข้อมูลในรายงาน Digital 2023 Global Overview Report ของ We Are Social บอกให้รู้ว่า ในเดือนมกราคมปี 2023 คนไทยใช้เวลาออนไลน์ 8 ชั่วโมง 6 นาที ลดลงจากปี 2022 ที่ใช้เวลาออนไลน์ 9 ชั่วโมง 6 นาที หายไปชั่วโมงหนึ่งเต็ม ๆ โดยใช้งานบนมือถือมากถึง 62.8% และหน้าจอคอม 37.2% ที่น่าสนใจคือ 25% ของผู้ใช้คือ Gen Z ช่วงอายุ 18 - 25 ปี วางแผนใช้เวลาบนแพลตฟอร์มน้อยลง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ Digital Wellbeing กำลังกลายเป็นเทรนด์ที่มาแรง เพราะความสุขในแบบที่สมดุลระหว่างโลกดิจิทัลกับโลกความเป็นจริง และ Work - Life Balance คือสิ่งที่คนทำงานยุคใหม่ให้ความสำคัญ
เสพติดจอมากเกินไปมีแต่พัง
ถ้าในแต่ละวันสำรวจตัวเองแล้วรู้ว่าใช้เวลาไปกับจอคอม จอสมาร์ทโฟน จอแท็บเล็ต และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ต่าง ๆ แทบทุกชั่วโมงไม่มีพัก เว้นแค่ตอนที่นอนหลับ แต่ก่อนนอนก็ยังจ้องจออยู่ อยากให้รู้ไว้เลยว่าผลที่ตามมาอาจเป็นปัญหาสุขภาพมากมายจนคาดไม่ถึง
• Digital Eye Strain หรือ Computer Vision Syndrome (CVS)
คืออาการตาล้าที่มาจากการใช้สายตาบนหน้าจอคอมพิวเตอร์และสื่อดิจิทัลนานโดยไม่หยุดพัก จนทำให้เกิดความผิดปกติกับดวงตา ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดตา ตาเบลอ ตาพร่ามัว มองไม่ชัด เห็นภาพซ้อน ตาแห้ง เจ็บตา เคืองตา แสบตา ฯลฯ หากไม่ปรับพฤติกรรมอาจทำให้จอประสาทตาเสื่อมก่อนวัยอันควร
• Eye Floaters วุ้นในตาเสื่อม เป็นภาวะที่เกิดจากการจ้องจอมากไป และเมื่อเป็นแล้วก็จะหายขาดได้ยาก โดยจะมีอาการมองเห็นเป็นจุด หรือเส้นคล้ายหยากไย่ลอยผ่านไปมา ทำให้มองไม่ชัด โดยอาจสร้างความรำคาญ ควรต้องพบจักษุแพทย์โดยเร็ว ถ้าปล่อยไว้นานอาจทำให้จอประสาทตาลอกได้
• Text Neck Syndrome ภาวะปวดคอจากการก้มหน้าเล่นมือถือ สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์ต่าง ๆ รู้ไหมว่าการก้มหน้าลงทุก ๆ 15 องศา คอกับบ่าอาจต้องแบกน้ำหนักมากถึง 27 กิโลกรัม ซึ่งอาการอาจจะเริ่มตั้งแต่ปวดเรื้อรังไปจนถึงเกิดการอักเสบที่คอ บ่า ไหล่ และอาจมีอาการชา ปวดร้าวจากคอถึงมือ รวมถึงอาการแขนอ่อนแรง ฯลฯ
• Texting Thumb Syndrome อาการที่เกิดจากการใช้นิ้วกดปุ่มเล่นคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องจนทำให้เกิดอาการปวดจี๊ด หรือชาที่นิ้วโป้ง และอาจส่งผลให้เอ็นข้อมืออักเสบ เอ็นนิ้วมืออักเสบ นิ้วล็อกได้อีกด้วย
• Nomophobia หรืออาการกลัวการขาดมือถือ รู้สึกต้องมีมือถือติดตัวตลอดเวลา และเล่นมือถือหลายชั่วโมงต่อวัน เวลาไม่มีมือถือจะกังวล ตกใจ กลัว กระวนกระวาย ร้อนใจ ขาดความมั่นใจ เหงา หรืออาจรุนแรงถึงขนาดแยกตัวออกจากสังคม
• Infobesity ภาวะข้อมูลล้นจากการได้รับข้อมูลบนโลกดิจิทัลมากเกินไป ที่อาจจะนำไปสู่การไม่กล้าตัดสินใจ เข้าใจยาก ขาดการวิเคราะห์ สมาธิสั้น ขาดการจดจ่อ
• Social Addiction ภาวะเสพติดโซเชียลมีเดีย ใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไปจนกระทบกับการทำงาน คิดถึงโซเชียลมีเดียตลอดเวลา รวมถึงรู้สึกกระวนกระวายเมื่อไม่ได้เล่นโซเชียลมีเดีย หงุดหงิด ขาดปฏิสัมพันธ์ รู้สึกเครียด หรืออาจมีภาวะซึมเศร้าตามมาได้
HOW TO รับมือให้ถูกเมื่อหน้าจอยังสำคัญ
ถึงแม้ยุคโควิดกำลังจะผ่านไป แต่ New Normal ใหม่ของโลกการทำงานไม่ได้เปลี่ยนตามไปด้วย เพราะในปัจจุบันคนรุ่นใหม่เปลี่ยนมาทำงานแบบ Remote Working หรือทำงานออนไลน์กันมากขึ้น และเมื่อชั่วโมงของการทำงานผ่านไป ก็ได้เวลาของกิจกรรมหย่อนใจก่อนนอนอย่างโซเชียลมีเดีย การดูซีรีส์ หรือการเล่นเกมออนไลน์ ที่ยิ่งทำให้ชั่วโมงของการใช้เวลาบนดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นอีก แล้วแบบนี้เราควรรับมืออย่างไรในวันที่อยากบาลานซ์ให้ชีวิตมี Digital Wellbeing มากยิ่งขึ้น
• ลิมิตการใช้โซเชียล มีงานวิจัยจากวารสารจิตวิทยาคลินิกและสังคม (Journal of Social and Clinical Psychology) ระบุว่า การลิมิตใช้โซเชียลมีเดียวันละ 30 นาที ช่วยลดภาวะซึมเศร้า ทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้
• ลองเปิด Airplane Mode โดยอาจเริ่มจากวันละครึ่งชั่วโมง ซึ่งจะช่วยตัดการแจ้งเตือน และกลับมาโฟกัสกับกิจกรรมตรงหน้าอย่างการออกกำลังกาย กินข้าวกับคนใกล้ชิด หรือทำงานอดิเรกที่ชอบได้มากขึ้น
• เลี่ยงโทรศัพท์มือถือก่อนเข้านอน เพราะการเล่นโทรศัพท์มือถือในที่มืดหรือบนที่นอนก่อนนอน ทำให้ดวงตาได้รับแสงสีฟ้าที่มีพลังงานสูง ซึ่งเป็นอันตรายต่อกระจกตา เลนส์ตา และจอประสาทตาชั้นลึกที่สุด ไม่เพียงปวดตา ตาล้า ในระยะยาวอาจทำให้จอประสาทตาเสื่อมได้ และยังมีงานวิจัยที่ระบุว่า การใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีก่อนนอนส่งผลให้คุณภาพการนอนลดลง เกิดความกังวลใจ นอนหลับไม่สนิท ไปจนถึงนอนไม่หลับ ยิ่งไปกว่านั้นยังทำให้ค่าดัชนีมวลกายเพิ่มขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงโรคอ้วนอีกด้วย
• เริ่มขยับร่างกายให้บ่อยขึ้น โดยเหตุผลสำคัญที่เราไม่ควรนั่งจ้องจออยู่กับที่เป็นเวลานานติดต่อกัน นั่นก็เพราะว่ามีงานวิจัยในอเมริกาที่พบว่าผู้ที่นั่งหน้าจอ 4 ชั่วโมงขึ้นไปมีโอกาสเสียชีวิตและเสี่ยงโรคมากกว่าผู้ที่นั่งหน้าจอไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง โดยยิ่งนั่งนานก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง ดังนั้นการขยับตัวเคลื่อนไหวจึงเป็นเรื่องสำคัญ และเพื่อเซฟคอ บ่า ไหล่ ให้ไกลจากออฟฟิศซินโดรมก็อย่าลืมยกมือถือให้สูงระดับเดียวกับสายตา รวมถึงหมั่นขยับร่างกายด้วยวิธีง่าย ๆ ตามนี้
- บริหารต้นคอ : ใช้มือซ้ายอ้อมไปจับศีรษะขวาดึงมาทางซ้ายให้รู้สึกตึง ค้างไว้ 10 วินาทีแล้วสลับข้าง
- บริหารไหล่ : ยกไหล่ขึ้นให้สุดแล้วเกร็งค้างไว้ 10 วินาที
- บริหารหลัง : ยืนตรงชูแขนเหนือศีรษะ ประสานมือแล้วค่อย ๆ เอนหลังจนรู้สึกตึง ค้างไว้ 10 วินาที
- บริหารสะโพก : ยกเท้าซ้ายทับเหนือเข่าขวา เอนตัวมาด้านหน้าจนรู้สึกตึง ค้างไว้ 10 วินาทีแล้วสลับข้าง
- บริหารมือ : กำมือให้แน่นที่สุด ค้างไว้ 5 วินาที ค่อย ๆ คลายมือและกางนิ้วออก ค้างไว้อีก 5 วินาที
เลือกกินให้ดี เพราะตามีแค่คู่เดียว
นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเซฟสุขภาพของดวงตาแล้ว การดูแลจากภายในก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะกับการเลือกกินอาหารที่มีสารอาหารที่ช่วยบำรุงสายตาคืออีกเรื่องที่มนุษย์ยุคโซเชียลไม่ควรละเลย
สารอาหาร ที่จัดอยู่ในกลุ่มของแคโรทีนอยด์ที่ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสร้างสารประกอบทั้งสองนี้ได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหาร โดยพบได้ในคะน้า ปวยเล้ง เคล ผักกาดแก้ว บรอกโคลี รวมถึง ปลาแซลมอน สาหร่ายสีแดงเล็ก กุ้ง ยีสต์
• วิตามินต่าง ๆ ที่พบในผลไม้ ฝรั่ง ส้ม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี ซึ่งมีวิตามินซี ถั่วเมล็ดแห้ง อะโวคาโด เนื้อไก่ เนื้อวัว ตับ มันฝรั่ง เมล็ดทานตะวัน ฯลฯ ซึ่งมีวิตามินบี 5 ที่สำคัญมีส่วนช่วยในการสังเคราะห์และเมตาบอลิซึมตามปกติของฮอร์โมน วิตามินดี และสารสื่อประสาทบางชนิด
• กรดไขมันไม่อิ่มตัว โอเมก้า 3 ที่มีประโยชน์ พบในปลาซาร์ดีน ทูน่า แมคเคอเรล เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วเหลือง น้ำมันพืช
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ในชีวิตประจำวันจะไม่จ้องหน้าจอ เพราะการทำงานและกิจกรรมที่รัก รวมถึงการรับข้อมูลข่าวสารในโลกดิจิทัลยังคงอยู่บนหน้าจอ การสร้างสมดุลชีวิตปรับไลฟ์สไตล์จะช่วยให้ Digital Wellbeing ไม่ใช่เรื่องยาก ใจดี กายดี ตาไม่พัง มีคุณภาพชีวิตที่ดีไปอีกนาน