ด้วยวิถีชีวิตปัจจุบันที่เร่งรีบมากขึ้น ประกอบกับเนื้องานที่มากขึ้น ส่งผลให้คุณเหนื่อยและเครียดจากความกดดันดังกล่าวโดยไม่รู้ตัว โดยอาการเครียดจะแสดงออกทางสุขภาพ เช่น ปวดศีรษะเรื้อรัง, นอนไม่หลับ, อ่อนเพลีย, ปวดไหล่/หลัง, ทำงานได้ช้าลง และคิดช้า/สมองตื้อ เป็นต้น
ในช่วงที่คุณเครียด ร่างกายจะต้องการสารอาหารเพิ่มเติม เพื่อลดอาการที่เกิดจากความเครียด สารอาหารที่ควรเสริม ได้แก่ กลุ่มวิตามินบี วิตามินซี โพแทสเซียม แมกนีเซียม ซิงค์ เป็นต้น
กลุ่มวิตามินบี (อ้างอิง 3,4)
กลุ่มวิตามินบีเป็นวิตามินที่มีส่วนสำคัญในการสร้างพลังงานให้กับร่างกาย หากได้รับในปริมาณที่ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย จะส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น นอกจากนี้ยังมีผลต่อการควบคุมระดับโฮโมซิสเทอีน (Homocysteine) อีกด้วย
สารโฮโมซิสทีน (Homocysteine) เป็นสารที่เกิดจากการย่อยสลายของอาหาร โดยถ้ามีสูงขึ้นเกินกว่าระดับที่ควรจะเป็นอาจทำลายหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดขนาดเล็ก เช่น หลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดที่อยู่ในสมอง ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมอง ระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ (อ้างอิง 2)
ปกติร่างกายจะพยายามขจัด “สารโฮโมซีสทีน” ให้เป็น “สารซีสทีน” แทน ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อหลอดเลือดและร่างกายส่วนอื่นๆ อย่างไรก็ตามในบางสภาวะ หรือในบางคน ร่างกายไม่สามารถกำจัดสารโฮโมซิสทีนได้ จึงมีระดับโฮโมซีสทีนสูง เช่น สภาวะเครียด รับประทานเนื้อสัตว์มากไป ปัญหาทางพันธุกรรมที่ไม่สามารถขจัดโฮโมซีสเตอีนได้ หรือ ร่างกายขาด วิตามิน บี6 บี12 และกรดโฟลิก เป็นต้น (อ้างอิง 1-2)
ดังนั้นการได้รับโฟเลตร่วมกับวิตามิน B6 และ B12 จะมีแนวโน้มช่วยลดสภาวะที่มีสารโฮโมซิสเทอีนเลือดสูงได้ จึงอาจมีส่วนช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary artery disease) และโรคหลอดเลือดสมอง (cerebrovascular disease) ได้
วิตามินซี (อ้างอิง 5)
วิตามินซีนอกจากจะมีบทบาทในด้านภูมิคุ้มกันแล้ว ยังพบว่าวิตามินซีมีส่วนช่วยในการลดความเครียดไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย (physical) และด้านจิตใจ (psychological) โดยจากการวิจัยของเยอรมันในกลุ่มคน 120 คน พบว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับวิตามินซี มีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง (ฮอร์โมนนี้จะมีมากในสภาวะที่เครียด) และระดับความดันโลหิตก็เพิ่มสูงขึ้น มากกว่ากลุ่มที่ได้รับวิตามินซี 1,000 มิลลิกรัม
แมกนีเซียม (อ้างอิง 6)
แมกนีเซียมมีบทบาทสำคัญกับปฏิกิริยาต่างๆ ในร่างกายมากกว่า 300 ชนิด โดยหน้าที่หลัก จะเกี่ยวข้องกับเอนไซม์ที่เป็น cofactor ของกระบวนการสร้างพลังงานในร่างกาย, การส่งกระแสประสาท, ระบบภูมิคุ้มกัน และการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งในสภาวะที่เครียด จะทำให้กล้ามเนื้อมีการหดเกร็งตัวมากกว่าปกติ การเสริมแมกนีเซียมจึงช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวกลับสู่สภาวะปกติได้
โพแทสเซียม (อ้างอิง 7)
เมื่อร่างกายอยู่ในภาวะเครียด ระดับ โพแทสเซียมในร่างกายจะลดลง ซึ่งมีผลทำให้ ร่างกายมีความอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ดังนั้นเราจึงควรรักษาระดับ โพแทสเซียม ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่สนับสนุนว่าการรับประทานวิตามินบีรวม ร่วมกับแมกนีเซียมและวิตามินซี ช่วยให้ระดับความเครียดลดน้อยลง ลดอาการเศร้าหมอง สร้างความตื่นตัว และทำให้ภาวะอารมณ์ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ8 การทานวิตามินบีรวม ร่วมกับวิตามินและแร่ธาตุอื่นๆ จึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง สำหรับผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน หรืออยู่ในสภาวะเร่งรีบ
ซิงค์
แร่ธาตุซิงค์ มีความสำคัญต่อการส่งกระแสประสาท ซึ่งมีการวิจัยพบว่า ถ้าร่างกายมีระดับซิงค์ต่ำ อาจส่งผลต่อการส่งกระแสประสาทที่แย่ลง (อ้างอิง 9,10) นอกจากนี้ยังพบว่า เมื่อร่างกายได้รับซิงค์ไม่เพียงพอ อาจสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลในผู้ใหญ่วัยทำงานได้ (อ้างอิง 11-14)
หากคุณเกิดความรู้สึกว่ากำลังตกอยู่ในท่ามกลางความเครียดตลอดเวลา นั่นจะทำให้ร่างกายของคุณเกิดอาการเครียดไปด้วย ควรหยุดพักหรือเดินออกจากสภาวะแวดล้อมเดิมๆ ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกกดดัน และลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่จะให้คำแนะนำในการบำบัดอาการเครียดได้อย่างถูกต้อง
อ้างอิง
1. Talitha C. Ford 1, Luke A. Downey 1,2,*, Tamara Simpson 1 , Grace McPhee 1, Chris Oliver 3 and Con Stough. The Effect of a High-Dose Vitamin B Multivitamin Supplement on the Relationship between Brain Metabolism and Blood Biomarkers of Oxidative Stress: A Randomized Control Trial. Nutrients. 2018, 10, 1860-1873.
2. Ramon Diaz -Arrastia, Homocysteine and Neurologic Disease. ARCH. Neuro, vol 57, Oct 2000, 1422-1427.
3. Con S., Tamara S., Justine L., et al. Reducing occupational stress with a B-vitamin focused intervention: a randomized clinical trial: study protocol-Nutrition Journal 2014, 13:122
4. สารโฟเลตกับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดย อ.พญ.นันตรา สุวันทารัตน์ , รศ.สมพงษ์ องอาจยุทธ ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
5. www.psychologytoday.com/articles/200304/vitamin-c-stress-buster
6. Lesley B. and Marc C. Herbs and natural supplements an evidence-based guide. 839-843, 1274-1278
7. He FJ, MacGregor GA. Beneficial effects of potassium on human health. Physiol Plant. 2008;133(4):725-35
8. สังคมเมือง ความเครียด โรคภัย และวิตามินบี โดน นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สถาบันนวัตกรรมสุขภาพผิวและความงาม โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กรุงเทพ
9. Gower-Winter SD, Levenson CW. Zinc in the central nervous system: From molecules to behavior. Biofactors. 2012;38(3):186–193. doi:10.1002/biof.1012.
10. Wang J et al. Zinc, Magnesium, Selenium and Depression: A Review of the Evidence, Potential Mechanisms and Implications. Nutrients. 2018;10(5):584. doi:10.3390/nu10050584.
11. Vashum KP et al.Dietary zinc is associated with a lower incidence of depression: Findings from two Australian cohorts. J Affect Disord. 2014;166:249-57. doi: 10.1016/j.jad.2014.05.016.
12. Nakamura M et al. Low Zinc, Copper, and Manganese Intake is Associated with Depression and Anxiety Symptoms in the Japanese Working Population: Findings from the Eating Habit and Well-Being Study. Nutrients. 2019;11(4):847. doi:10.3390/nu11040847.
13. Yary T and Aazami S. Dietary intake of zinc was inversely associated with depression. Biol Trace Elem Res. 2012;145(3):286-90. doi: 10.1007/s12011-011-9202-y.
14. Amani R et al. Correlation between dietary zinc intakes and its serum levels with depression scales in young female students. Biol Trace Elem Res. 2010;137(2):150-8. doi: 10.1007/s12011-009-8572-x.