กระเพาะปัสสาวะอักเสบมีอัตราการเกิดเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปัญหาต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตประจำวันที่มีแต่ความเร่งรีบ เช่น การจราจรติดขัด ก็ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรค อาการที่พบ ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย ครั้งละน้อย ๆ รู้สึกปัสสาวะไม่สุด ปวดเสียวถึงท้องน้อยเวลาปัสสาวะ ในกรณีรุนแรงอาจปัสสาวะเป็นเลือด ซึ่งนอกจากจะทรมานแล้ว ยังทำให้ขาดความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันด้วย เพราะบางคนไม่ได้เป็นครั้งเดียว แต่เป็น ๆ หาย ๆ หรือเรื้อรัง แต่เราสามารถป้องกันได้ด้วย 7 เทคนิคง่าย ๆ ดังนี้
1. รู้จักสาเหตุ กระเพาะปัสสาวะอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากบริเวณรอบท่อปัสสาวะผ่านเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ จึงพบมากในผู้หญิงซึ่งมีท่อปัสสาวะสั้นกว่าผู้ชาย การติดเชื้อมักเกิดจากการทำความสะอาดผิดวิธี และจากการกลั้นปัสสาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอจากโรคประจำตัว หรือรับประทานยาที่กดภูมิคุ้มกันร่างกาย จะทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
2. ไม่กลั้นปัสสาวะ เพราะแบคทีเรียที่ค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะนาน ๆ จะเจริญเติบโตจนเกิดการติดเชื้อที่ผนังกระเพาะปัสสาวะ
3. ควบคุมโรค กรณีที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ หากรับประทานยาสเตียรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกันร่างกายอยู่ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8 แก้ว และไม่กลั้นปัสสาวะ
4. ดูแลจุดซ่อนเร้น ทำความสะอาดให้ถูกวิธี ไม่เช็ดทำความสะอาดจากด้านหลังบริเวณรอบรูทวารมาทางด้านหน้า นอกจากนี้หลังมีกิจกรรมกับคนรักของคุณก็ควรลุกมาปัสสาวะ ไม่ควรนอนหลับกลั้นปัสสาวะไว้นะคะ
5. วัยทองต้องดูแล เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนจะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นตัวหลักในการควบคุมสมดุลกรดด่างของช่องคลอดและท่อปัสสาวะ ซึ่งเมื่อเสียสมดุล ช่องคลอดและท่อปัสสาวะจะง่ายต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นหากพบช่องคลอดแห้งมาก และมีปัญหากระเพาะปัสสาวะอักเสบซ้ำบ่อย ควรพบแพทย์เพื่อรับยาที่ช่วยปรับระดับฮอร์โมนและสมดุลกรดด่างในช่องคลอดให้ดีขึ้น และทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นอย่างถูกวิธี
6. งดชา กาแฟในช่วงเย็น เนื่องจากการดื่มชา กาแฟ หรือดื่มน้ำเยอะ ๆ ในช่วงเย็นและก่อนนอน จะทำให้ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ทำให้มีโอกาสกลั้นปัสสาวะตอนหลับได้
7. แครนเบอร์รี มีการศึกษาพบว่าการรับประทานน้ำแครนเบอร์รี หรือสารสกัดจากแครนเบอร์รี (ในกรณีที่กังวลเรื่องความหวาน การเพิ่มของแคลอรีและระดับน้ำตาลในเลือดจากน้ำแครนเบอร์รี) ช่วยป้องกันการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ เนื่องจาก แครนเบอร์รี ประกอบด้วย กรด quinic ที่ช่วยเพิ่มระดับของกรด hippuric ในปัสสาวะซึ่งมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียในปัสสาวะ นอกจากนี้ยังมีสาร proanthocyanidins มีผลรบกวนการเกาะของเชื้อแบคทีเรียที่กระเพาะปัสสาวะซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แครนเบอร์รียังมีประโยชน์ในแง่อื่น เช่น ประโยชน์ต่อผิวพรรณ แครนเบอร์รีประกอบด้วยวิตามินซีและวิตามินเอ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันความเสื่อมของเซลล์ และมี flavonoids ที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในแง่การควบคุมระดับคลอเลสเตอรอลในเลือด และการเกาะตัวของไขมันที่ผนังหลอดเลือด นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันโรคแผลในกระเพาะอาหาร เนื่องจากแครนเบอร์รี่ช่วยยับยั้งการติดเชื้อ Helicobacter pylori ที่เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดแผลในกระเพาะ เป็นต้น
กระเพาะปัสสาวะอักเสบแม้จะเป็นปัญหาที่วุ่นวายใจ แต่เราสามารถป้องกันด้วย 7 เทคนิคในการปรับรูปแบบการใช้ชีวิตและรับประทานสารอาหารที่มีประโยชน์ เริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ ป้องกันก่อนเกิดโรคง่าย ๆ ด้วยการใส่ใจดูแลสุขภาพนะคะ
Article: พญ.ธิศรา วีรสมัย สูตินรีแพทย์