เราจะเลือกรัอบประทานอาหารที่ไม่เป็นภัยต่อโลกได้อย่างไร? เราได้ถาม เบลินดา บีน ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน
อะไรคือ อาหาร ‘อันตราย’ ในแง่ของความยั่งยืน?
สิ่งแรกคือ กาแฟ เพราะกาแฟทำให้เกิดความไม่ยั่งยืนในแง่ของการใช้แรงงานและวิธีการผลิตที่ทำลายสิ่งแวดล้อม สภาวะของคนงานในไร่กาแฟขนาดใหญ่อาจจะแตกต่างกัน แต่ส่วนมากได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่ควร
เพื่อเพิ่มการผลิตในอุตสาหกรรมกาแฟขนาดใหญ่ ผู้ผลิตจะทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว ต้นไม้ต้องถูกโค่นลงเพื่อ ‘การเพาะปลูกภายใต้แสงแดด’ และมีการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง วิธีการเหล่านี้เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ผลคือ ความหลากหลายทางชีวภาพและถิ่นที่อยู่ของพืชและสัตว์ลดลง ดินถูกทำลาย และการปนเปื้อนสารเคมีในลำธาร
ปัญหาสิ่งแวดล้อมยังไม่จบแค่นี้ เพราะกาแฟจะถูกบรรจุในถุงพลาสติกหรืออลูมิเนียมแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและส่งไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อใช้กับเครื่องต้มกาแฟแบบใหม่
คำแนะนำ
ถ้าคุณใช้แคปซูลกาแฟพ็อด มองหา ‘ecoCaffe’ ซึ่งเป็นพ็อดที่ย่อยสลายได้ เอาไปทำปุ๋ยได้หรือใส่ถังขยะชนิดที่ไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม
อันดับต่อไป อาหารทะเล องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ให้ข้อมูลว่า มีกองเรือประมงทั่วโลกในปัจจุบันมากเป็นสองสามเท่าของจำนวนที่มหาสมุทรจะตอบสนองได้อย่างยั่งยืน คนกำลังนำปลาออกไปจากมหาสมุทรมากกว่าที่จะทดแทนได้ทันในส่วนที่ยังเหลืออยู่
นี่คือความไม่ยั่งยืน อาหารที่ปนเปื้อน ยาปฏิชีวนะ บรรจุภัณฑ์ ปรอทและโลหะหนักจำนวนมาก (จากการปนเปื้อนน่านน้ำชายฝั่ง) คือ ปัญหาอีกส่วนหนึ่งของวิธีปฏิบัติในการจัดหาอาหารทะเล
ตัวอย่างเช่น ปลาแซลมอนมักจะถูกเลี้ยงในบริเวณที่ล้อมด้วยตาข่าย ของเสียจากปลา อาหารที่เหลือ ลอยออกไปและปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม ปลาแซลมอนในฟาร์ม จึงง่ายต่อการเป็นโรคและมีปรสิต เช่น ไรทะเล เมื่อเจ้าของฟาร์มให้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าปรสิตแก่ปลา สารเคมีที่ตกค้างมีผลเสียอย่างมากมายต่อสุขภาพของผู้บริโภค
คำแนะนำ
ซื้อปลาตามฤดูกาลในท้องถิ่น – สนับสนุนชาวประมงท้องถิ่นและซื้อจากตลาดที่มีปลาหลากชนิดกว่า สดกว่า ที่มีขายในซูเปอร์มาร์เก็ต
ชาวออสเตรเลีย บริโภคเนื้อสัตว์ต่อปีในปริมาณเท่ากับน้ำหนักของตัวเองหรือประมาณ 224 กรัมต่อวัน เทียบกับค่าเฉลี่ย 47 กรัมต่อวัน ในประเทศกำลังพัฒนา การเลี้ยงสัตว์เป็นอาหารทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าที่ได้จากรถยนต์ รถบรรทุก รถไฟ เรือและเครื่องบินทั้งโลกรวมกัน
คำแนะนำ
รับประทานเนื้อสัตว์ให้น้อยลงแต่ให้ได้คุณภาพ ถามคนขายเนื้อถ้ามีให้เลือก หรือซื้อเนื้อสัตว์จากตลาดที่รองรับฟาร์มที่มีคุณภาพ
กระแสของ ‘อาหารธงแดง’ อันไหนซึ่งผู้บริโภคที่มีจริยธรรมควรต้องรู้
ปัจจุบันเป็นเรื่องปกติที่เราใช้สารหวานสังเคราะห์แทนน้ำตาล นมจากอัลมอนด์หรือถั่วเหลืองแทนนมวัว และใช้โปรตีนจากพืชแทนเนื้อสัตว์ หรือนำเข้าถั่วและธัญพืชที่ผ่านการขัดสี การผลิตอาหารเหล่านี้ต้องใช้น้ำ การขนส่งและสารเคมีจำนวนมาก
ในด้านสังคม การซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร (เช่น ควินัว) จากประเทศที่สามารถพึ่งตนเองได้ตามแบบฉบับของตนเอง อาจเป็นการแย่งอาหารของคนในประเทศนั้น
ทางที่ดีที่สุด คือ ดูที่การบริโภคของตนเองและแหล่งอาหาร
จำเป็นต้องบริโภคในปริมาณมากหรือไม่?
หาแหล่งอาหารในพื้นที่ได้หรือไม่?
มีการผลิตอย่างมีจริยธรรมหรือไม่?
การถามคำถามเหล่านี้จะทำให้คุณเป็นผู้บริโภคที่มีสติ ส่งผลกระทบย้อนกลับไปยังห่วงโซ่อุปทาน ต่อเครือข่ายสังคมและเหนือไปกว่านั้น
ใช้หลักการอะไรที่แน่ใจได้ว่าเรารับประทานอย่างยั่งยืนและมีจริยธรรม
เริ่มทำ 5 ข้อนี้เพื่อการเริ่มต้น:
ซื้อของในท้องถิ่น ตามฤดูกาล และเป็นเกษตรอินทรีย์
ปลูกอาหารรับประทานเองบ้าง
ลดปริมาณของเสียจากอาหารและทำปุ๋ยใช้เอง หรือทำฟาร์มไส้เดือน
เลือกซื้อเนื้อสัตว์ อาหารทะเล และกาแฟ จากแหล่งที่ยั่งยืนและมีจริยธรรม
หลีกเลี่ยงบรรจุภัณฑ์และถุงพลาสติกบรรจุสินค้า
เบลินดา บีน เจ้าหน้าที่ด้านความยั่งยืนที่ มหาวิทยาลัย แมคไควรี