คุณเคยสงสัยไหมว่า เราจะเสริมสร้างระบบภูมิต้านทานอย่างไรดีในช่วงฤดูไข้หวัด?
เรามี 3 กลยุทธ์ง่ายๆ ที่คุณสามารถนำไปใช้เพื่อให้อยู่รอดพ้นหน้าหนาวซึ่งเป็นฤดูที่ผู้คนจะได้รับผลกระทบจากอากาศหนาวและไข้หวัดกันมากที่สุด
แม้ว่าเหตุผลที่แน่ชัดจะยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันแล้วว่า อากาศหนาวไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เราป่วยเสียทีเดียว แต่เป็นเชื้อโรคต่างหาก สภาพอากาศที่หนาวเหน็บเพียงแค่สร้างสภาพแวดล้อมที่เชื้อร้ายเหล่านี้สามารถมีชีวิตรอด เติบโต และแพร่กระจายได้เท่านั้น
มาดูกันว่าจะลดความเสี่ยงได้อย่างไรบ้าง
1.ออกกำลังกายให้เพียงพอ
การออกกำลังกายเป็นวิธีที่ดีมากที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน “การออกกำลังอย่างสม่ำเสมอจะช่วยเสริมสร้างเซลล์ในร่างกาย ทำให้มีออกซิเจนและสารต้านเชื้อโรคที่จะทำลายไวรัสและแบคทีเรียต่างๆ” ดร.ทัล แรพเค กล่าว
เขายังเสริมอีกว่า มีหลักฐานปรากฎว่า คนที่ออกกำลังกายลาป่วยน้อยกว่าถึงครึ่งหนึ่งและฟื้นตัวไวกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกาย
นอกเหนือจากนี้ การออกไปข้างนอกในวันที่อากาศสดชื่นและมีแสงแดดจะช่วยร่างกายสร้างสร้างวิตามินดี อีกด้วย ปริมาณวิตามินดี ที่เหมาะสมนั้นเป็นสิ่งสำคัญต่อระบบภูมิต้านทาน
2.หมั่นสร้างเสริมสุขนิสัยที่ดี
เมื่อคุณต้องออกไปข้างนอก โดยเฉพาะในช่วงที่ไข้หวัดแพร่ระบาด การล้างมืออย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะหลังจากที่สัมผัสประตูหรือเกาะราวต่างๆ ในรถสาธารณะ
ดร.แรพเค แนะนำว่า ใครที่ไม่สามารถไปห้องน้ำเพื่อล้างมือได้บ่อยๆ ก็อาจจะพกและใช้กระดาษเปียก หรือจะเป็นเจลล้างมือแทนก็ได้
แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่น่าตื่นเต้น แต่การเตือนทุกคนในบ้านให้หมั่นล้างมือก่อนและหลังสัมผัสอาหาร เข้าห้องน้ำหรือสั่งน้ำมูกก็เป็นสิ่งที่ดีเสมอ (รวมทั้งหลังปิดปากเวลาไอหรือจามด้วย แต่จะดีต่อสุขภาพกว่าถ้าจะใช้ข้อศอกปิดปากแทน)
3.รับประทานอาหารที่เสริมสร้างภูมิต้านทาน
การรับประทานอาหารที่ดีจะช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานที่แข็งแรงและทำให้ฟื้นตัวได้ไวยิ่งขึ้นเวลาล้มป่วย ให้เพิ่มอาหารที่มีเบต้าแคโรทีน ไบโอฟลาโวนอยด์ และสารที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบไปในอาหารแต่ละมื้อ
บลูเบอรี่ ผลไม้จำพวกส้ม แอปเปิ้ล และน้ำผึ้งมานูก้า เป็นส่วนผสมที่ดีเยี่ยมถ้าคุณจะทำเป็นสมูตตี้ดื่มในตอนเช้า
กระเทียม มะเขือเทศ หัวหอม เห็ด ขมิ้น แครอท ผักใบเขียวและเนื้อแดงที่มีไขมันน้อยนั้นเป็นส่วนผสมที่ดีในการทำซุปอุ่นๆ สำหรับรับประทานในช่วงหน้าหนาว
จำกัดการบริโภคน้ำตาลและแอลกอฮอล์
การรับประทานอาหารที่มีอุดมไปด้วยธาตุเหล็กเป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานเช่นกัน ชานเทลล์ เบล นักธรรมชาติบำบัดกล่าว
เบล แนะนำให้รับประทานหอยนางรม เนื้อวัว เนื้อแกะ เมล็ดฟักทองหรือมะม่วงหิมพานต์ในอาหารแต่ละมื้อ โดยปริมาณบริโภคที่แนะนำในแต่ละวันสำหรับชาวออสเตรเลียอยู่ที่ 8 ถึง 14 มิลลิกรัมต่อวัน หรือก็คือหอยนางรม 2 ตัว เนื้อวัวหรือแกะ 150 กรัมหรือเมล็ดฟักทองหรือมะม่วงหิมพานต์ 1 ถ้วย
สมูตตี้เสริมสร้างภูมิต้านทาน
สมูตตี้ เต็มไปด้วยคุณค่าโภชนาการด้วยส่วนผสมที่มีฟลาโวนอยด์สูงและน้ำผึ้งมานูก้า
เวลาที่ใช้: 5 นาที
สำหรับ 1 ที่
ส่วนผสม
• น้ำมะพร้าว 1 ถ้วย
• แอปเปิ้ลหั่นแล้ว 1 ลูก
• บลูเบอรี่ 1 กำมือ
• โกโก้สด 1 ช้อนชาถึง 1 ช้อนโต๊ะ
• น้ำผึ้งมานูก้า 1 ช้อนชาพูนๆ
• โยเกิร์ตจากธรรมชาติเล็กน้อย
วิธีทำ
• นำส่วนผสมใส่ในเครื่องปั่นแล้วปั่นจนเหลว
• เทใส่แก้วใบใหญ่แล้วเสิร์ฟแบบแช่เย็น
ลูกบอลวิตามิน C ชั้นเยี่ยม สร้างภูมิต้านทานของคุณด้วยวิตามินซีชั้นเยี่ยม ปั้นไว้ประมาณ 12 ลูก
ส่วนผสม
• เม็ดมะม่วงหิมพานต์เปียก 1 ถ้วยครึ่ง
• มะพร้าวตากแห้ง 1 ถ้วยครึ่ง
• มะนาวคั้นแล้ว 2 ลูก
• น้ำมันมะพร้าวนุ่มแต่ไม่เหลว 2 ช้อนโต๊ะ
• โกจิเบอร์รี่ ครึ่งถ้วย
• เกลือหิน 1 หยิบมือ
• น้ำผึ้ง 2 ช้อนโต๊ะ หรือน้ำเชื่อมข้าวแดง
• เกลือเม็ด หนึ่งหยิบมือ
• มะพร้าวตากแห้งสำหรับเคลือบ
วิธีทำ
นำส่วนผสมทั้งหมดยกเว้นโกจิเบอร์รี่ใส่ในเครื่องผสมอาหารแล้วผสมเข้าด้วยกันจนเป็นเนื้อเดียว แต่สิ่งสำคัญคืออย่าผสมเพลินจนกลายเป็นเนยไปล่ะ!
หลังจากที่ปั่นจนได้ที่แล้ว ให้ใส่โกจิเบอร์รี่ไปและผสมอีกสองสามครั้งจนออกมาเป็นแป้ง โดยจะทำด้วยมือก็ได้ถ้าจะไม่ใช้เครื่อง
ปั้นแป้งที่ได้เป็นลูกบอลแล้วเอามะพร้าวตากแห้งเคลือบ จากนั้นจึงแช่แข็ง (ประมาณ 1-2 ชั่วโมง หรือถ้าให้ดีก็แช่ข้ามคืนไปเลย)
วิธีหยุดไม่ให้เชื้อวัดแพร่กระจาย
เทคนิคที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่แพร่กระจายนั้นง่ายนิดเดียว ใครๆ ก็ทำได้:
• ล้างมือด้วยน้ำสบู่อุ่นๆ แล้วผึ่งให้แห้ง ใช้เจลล้างมือแทนเมื่อต้องออกไปข้างนอก
• หากรู้สึกไม่สบายให้อยู่พักรักษาตัวที่บ้าน และพักอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังจากที่ไม่มีไข้แล้ว
• รับประทานอาหารที่มีคุณค่าและหมั่นออกกำลังกายเพื่อให้สุขภาพและภูมิต้านทานแข็งแรง ดื่มน้ำและจำกัดการบริโภคน้ำตาลและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
• ความเครียดและการอดนอนจะมีผลเสียต่อระบบภูมิต้านทาน ดังนั้นพยายามตั้งเป้านอนให้ได้อย่างน้อย 8 ชั่วโมง
• หมั่นทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ เช่น โทรศัพท์ และคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์
• หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา จมูกและปาก
• ปิดปากเวลาไอหรือจาม ทิ้งทิชชู่ที่ใช้แล้วทันที