เป็นที่ทราบกันดีว่าวิตามินซี มีคุณประโยชน์หลากหลายและ เป็นหนึ่งในวิตามินพื้นฐานที่ปลอดภัยเมื่อได้รับในปริมาณที่พอเหมาะ เนื่องจากมีคุณสมบัติละลายได้ดีในน้ำ เมื่อร่างกายมีการดูดซึมนำวิตามินซีไปใช้เรียบร้อยแล้ว ร่างกายจะขับส่วนเกินออกทางปัสสาวะทุกวัน ดังนั้นทุกคนจึงควรได้รับวิตามินซีอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตวิตามินซีเองได้ จำเป็นต้องได้รับจากการรับประทานเท่านั้น แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบัน การรับประทานอาหาร ผัก ผลไม้ที่สดใหม่และยังคงคุณค่าของวิตามินซี ซึ่งเป็นวิตามินที่สลายตัวง่ายเมื่อถูกความร้อน ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก
วิตามิน C กับประโยชน์ที่หลากหลาย
วิตามินซีกับภูมิคุ้มกัน
ในภาวะที่ร่างกายอ่อนแอโดยเฉพาะช่วงที่นอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดแผลร้อนในสีขาวๆในปาก มีกลิ่นปาก เลือดออกขณะแปรงฟัน จากการศึกษาหลายชิ้นพบว่า วิตามินซีอาจช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งเป็นหนึ่งในระบบภูมิคุ้มกัน จะเก็บวิตามินซีปริมาณสูงไว้เพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค โดยวิตามินซีจะกระตุ้นการเคลื่อนที่ของเซลล์เม็ดเลือดขาวในการเข้าโจมตีพวกเชื้อโรคได้รวดเร็วขึ้น (Neutrophil and Monocyte movement) และยังช่วยทำให้การตอบสนองของภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้นด้วย นอกจากนั้นยังพบอีกว่า วิตามินซีปริมาณสูงสามารถช่วยป้องกันการเกิดหวัดได้ในผู้ที่มีปัญหากับการปรับอุณหภูมิร่างกายเมื่อโดนอากาศเย็น (Cold stress)
วิตามินซีกับภูมิแพ้
อาการภูมิแพ้มักเกิดจากสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ร่างกายหลั่งสารฮีสตามีน (Histamine) และก่อให้เกิดอาการแพ้หลายอย่างๆ เช่น น้ำมูกไหล จาม คันจมูก ซึ่งมักเป็นๆ หายๆ และอาจเกิดขึ้นได้ตลอดปี หากมีอาการมากขึ้นจนมีการติดเชื้อแทรกซ้อน อาจส่งผลให้เกิดโรคไซนัสตามมา การรับประทานวิตามินซีเป็นประจำช่วยลดอาการแพ้ที่เกิดขึ้น เนื่องจากวิตามินซี นอกจากจะช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้นแล้ว ยังอาจช่วยลดฤทธิ์การทำงานของสารฮีสตามีนลงได้ ส่งผลให้อาการภูมิแพ้ต่างๆดีขึ้น
วิตามินซี กับผิว
สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้โครงสร้างผิวไม่แข็งแรง หมองคล้ำดูไม่สดใสคือ สารอนุมูลอิสระ(Free radicals) ที่ทำลายเซลล์ผิว เส้นใยคอลลาเจนใต้ผิวถูกทำลายและเรียงตัวไม่เป็นระเบียบหากผิวไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ วิตามินซี ช่วยปกป้องผิวจากการถูกทำลายด้วยคุณสมบัติ การต่อต้านอนุมูลอิสระ (Anti-oxidant) ที่ช่วยต่อต้านการถูกทำลายของสารอนุมูลอิสระ(Free radicals) ที่เกิดจากการเผาผลาญภายในร่างกายและจากภายนอก เช่น แสงแดด, มลภาวะ, การสูบบุหรี่ เป็นต้น นอกจากนี้วิตามิน ซี ยังสามารถกระตุ้นให้วิตามินอีออกฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระได้นานขึ้น และยังเกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างคอลลาเจนใต้ผิวและหลอดเลือดฝอย ผิวจึงมีสุขภาพดี สดใสไม่หมองคล้ำ
ไบโอฟลาโวนอยด์ (Bioflavonoid) กับ วิตามินซี
ไบโอฟลาโวนอยด์ (Bioflavonoid) เป็นสารจากธรรมชาติ มักพบในผักและผลไม้ โดยเฉพาะพืชตระกูลส้ม จากการศึกษาพบว่าไบโอฟลาโวนอยด์สามารถเพิ่มการดูดซึม และเสริมฤทธิ์การทำงานของวิตามินซีดังนั้นจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หากเลือกทานวิตามินซีในสูตรที่ผสมไบโอฟลาโวนอยด์เหมือนที่พบอยู่ในธรรมชาติ
วิตามิน ซี ทานอย่างไรดี
ปริมาณวิตามินซีที่ควรได้รับอาจขึ้นกับสภาวะร่างกายของแต่ละบุคคล
• หากเราอยู่ในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ นอนดึกมีแนวโน้มที่จะเป็นหวัด ควรได้รับวิตามินซี 1,000-3,000 มก.ต่อวัน
• สำหรับคนที่มีอาการภูมิแพ้ ควรรักษาระดับวิตามินซีในร่างกายให้นานกว่าคนทั่วไปเพื่อควบคุมอาการ ภูมิแพ้ น้ำมูกไหล จาม ควรได้รับวิตามินซีในรูปแบบที่ค่อยๆปลดปล่อยวิตามินซี ครั้งละ 500 มก. เช้า เย็น
• ในกลุ่มคนที่ได้รับวิตามินซีจากอาหารไม่เพียงพอ การทานวิตามินซีเพื่อการบำรุงทั่วไป ควรได้รับวิตามินซี 1,000 มก.ต่อวัน
Reference
1. Levine M et al. Criteria and recommendations for vitamin C intake. JAMA. 1999;281:1415-23
2. Maggini S, Wintergerst ES, Beveridge S, Hornig DH. Selected vitamins and trace elements support immune function by strengthening epithelial barriers and cellular and humoral immune responses. Br J Nutr 2007;98(suppl:S29-S35).
3. Anderson R. Ascorbate-mediated stimulation of neutrophil motility and lymphocyte transformation by inhibition of the peroxiase/H2O2/halide system in vitro and in vivo. Am J Clin Nutr 1981;34:1906-1911.
4. Anderson R. Assessmet of oral ascorbate in three children with chronic granulomatous disease and defective neutrophil motility over a 2- year period. Clin Exp Immunol.1981;43;180-188.
5. Douglas R., Hemila H, Chalker E, Treacy B. Vitamin C for preventing and treating the common cold. Cochrane Database Syst Rev 2007: CD000980
6. Johnston CS, Martin LJ, Cai X. Antihistamine effect of supplemental ascorbic acid and neutrophil chemotaxis. J Am Coll Nutr. 1992;11(2):172-176
7. Whitney E, Rolfes SR. Understanding nutrition. 10th ed. CA. U.S.A. Thomson Wadsworth, 2005.
8. Baumann L. Cosmetic Dermatology: Principles and Practice. McGraw-Hill. New York. U.S.A. 2002
9. Vinson JA et al. Comparative bioavailability to humans of ascorbic acid alone or in a citrus extract. Am J Clin Nutr 1988;48:601-4
10. Deruelle F and Baron B.Vitamin C: Is supplementation necessary for optimal health?. The Journal of Alternative Medicine and Complementary. 2008. 14(10): 1-8.