ข่าวดีสำหรับผู้ชื่นชอบชีส โยเกิร์ต และนมไขมันเต็มส่วน (full-fat milk) ... มูลนิธิหัวใจได้ให้คำแนะนำล่าสุดว่า อาหารชนิดใดดีต่อสุขภาพหัวใจ
คำแนะนำใหม่ล่าสุดเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพหัวใจที่ดี
ตอนนี้ชาวออสเตรเลียที่มีสุขภาพดี สามารถเลือกบริโภคนมไขมันเต็มส่วนไม่ปรุงแต่ง โยเกิร์ต และเนยแข็งได้ และยังสามารถรับประทานไข่ได้ในจำนวนที่มากขึ้นต่อสัปดาห์เพื่อสุขภาพหัวใจด้วย
มูลนิธิหัวใจกล่าวว่า ชาวออสเตรเลียคงต้องทบทวนว่าควรรับประทานเนื้อแดงมากน้อยเพียงใด เนื่องจากมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า มันเพิ่มความเสี่ยงต่อการทำลายสุขภาพหัวใจและเพิ่มรอบเอวอย่างไม่พึงประสงค์อีกด้วย
ศาสตราจารย์แกร์รี เจนนิ่งส์ หัวหน้าผู้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ของมูลนิธิหัวใจกล่าวในงานแถลงข่าวว่า “เราได้นำเสนอให้มีการจำกัดการรับประทานเนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อหมู และเนื้อลูกวัวที่ไม่แปรรูปให้น้อยกว่า 350 กรัมต่อสัปดาห์ นั่นคือประมาณหนึ่งถึงสามมื้อต่อสัปดาห์ของอาหารจำพวกเนื้อแดง อย่าง ซันเดย์โรสต์ หรือเนื้อผัด
“ควรจำกัดการรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูปหรือเนื้อสำเร็จรูปแบบตัดเย็น” ศาสตราจารย์เจนนิ่งส์ กล่าว
“เราแนะนำให้รับประทานอาหารโปรตีนที่ดีต่อสุขภาพหัวใจด้วยแหล่งโปรตีนจากพืชแทน อย่างถั่วฝัก เลนทิล (พืชตระกูลถั่ว) และเต้าหู้ รวมถึงปลาและอาหารทะเล และไข่กับสัตว์ปีกไม่ติดมันอีกเล็กน้อย การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพหัวใจนั้นเป็นเรื่องของการเลือกประเภทอาหารที่รับประทานเป็นประจำเป็นระยะเวลานาน”
“เราได้ยกเลิกข้อจำกัดในการรับประทานนมไขมันเต็มส่วน ชีส และโยเกิร์ต สำหรับชาวออสเตรเลียที่มีสุขภาพดี”
เมื่อได้ทบทวนข้อมูลที่สนับสนุนคำแนะนำล่าสุดนี้แล้ว มูลนิธิหัวใจกล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมประเภทนี้ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพหัวใจ
แม้ว่าจะทราบถึงข้อมูลหลักฐานที่มีการผสมกันอยู่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะจำกัดการรับประทานนมไขมันเต็มส่วน โยเกิร์ต และชีสในคนที่มีสุขภาพดีต่อไป เนื่องจากอาหารเหล่านี้เป็นแหล่งสารอาหารที่จำเป็นอื่น อย่างเช่น แคลเซียม
เช่นเดียวกับทุกๆ เรื่องในการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ หากคุณมีประวัติเรื่องโรคหัวใจ หรือกำลังจัดการกับระดับคอเลสเตอรอลอยู่ ก็ควรบริโภคชีส โยเกิร์ต และไข่ในปริมาณที่พอเหมาะ
ในกรณีนี้มูลนิธิหัวใจแนะนำให้บริโภคนมและชีสชนิดไขมันต่ำที่ไม่ปรุงแต่ง และรับประทานไข่ให้น้อยกว่าเจ็ดฟองต่อสัปดาห์
เป็นที่น่าสังเกตว่า ไอศกรีมและของหวานอื่นๆ ที่ทำจากนมนั้นไม่ได้รับการผ่อนผันเหมือนกับผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากนมตามที่กล่าวมา ด้วยปริมาณน้ำตาลและไขมันสูง แถมยังมีโปรตีนต่ำ ดังนั้นจึงไม่ผ่านหลักเกณฑ์เป็นอาหารที่ดีต่อหัวใจ
ผลของการกินที่บั่นทอนสุขภาพ
นิสัยการกินที่ไม่ดีเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเรา การรับประทานอาหารที่ไม่ดีเพิ่มภาระที่ทำให้เกิดโรคหัวใจถึงร้อยละ 65.5
ไม่ใช่แค่หัวใจเท่านั้นที่จะรักเรามากขึ้นหากเรารับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ จากการประมาณการณ์ในปี พ.ศ. 2558-2559 หากชาวออสเตรเลียบริโภคผักตามคำแนะนำให้บริโภคเป็นประจำทุกวัน ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้ถึง 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว
อาหารสุขภาพประกอบด้วยอาหารที่ไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป
จูลี่ แอน มิตเชลล์ ผู้อำนวยการด้านการป้องกัน จากมูลนิธิหัวใจกล่าวในแถลงการณ์เดียวกันว่า คำแนะนำเรื่องการรับประทานเพื่อสุขภาพควรปรับเปลี่ยนตามข้อมูลหลักฐานที่พบใหม่
“เมื่อเวลาผ่านไป คำแนะนำเรื่องการรับประทานเพื่อสุขภาพหัวใจของมูลนิธิหัวใจได้เปลี่ยนไปตามข้อมูลหลักฐานที่พบเกี่ยวกับสารอาหารแต่ละชนิดนั้นๆ และได้เฝ้ามองอย่างใกล้ชิดไปที่อาหารที่ไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป และรูปแบบของการรับประทานกันมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือ การผสมผสานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและความถี่ของการบริโภคอาหารเหล่านี้” มิตเชลล์กล่าว
“อาหารที่ผ่านการแปรรูปมากๆ ที่เข้ามาแทนอาหารที่ดีต่อสุขภาพนั้นหาซื้อได้ง่ายขึ้น และได้รับการโปรโมทมากขึ้น ทำให้ผู้ใหญ่ชาวออสเตรเลียจำนวนมากบริโภคอาหารที่มีกิโลจูล (kilojoule) สูง อาหารขยะที่มีสารอาหารต่ำ อย่างเค้ก มัฟฟิน พาสตรีย์ แอลกอฮอล์ และน้ำอัดลม คิดเป็นพลังงานมากกว่าหนึ่งในสามของปริมาณพลังงานที่ได้รับในแต่ละวัน”
วิธีง่ายๆ ในการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ
การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพไม่จำเป็นต้องยุ่งยาก ต่อไปนี้เป็นหลักไม่กี่ข้อที่คุณสามารถนำไปปรับปรุงมื้ออาหารของคุณได้ในทันที
1. รับประทานอาหารจากพืชให้มากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มส่วน และโปรตีนจากพืชตระกูลถั่ว เต้าหู้ และอาหารหมักจากพืชตะกูลถั่ว
2. รับประทานปลาและอาหารทะเลมากขึ้น ลดเนื้อสัตว์และโปรตีนจากสัตว์อื่นๆ ให้น้อยลง
3. จำกัดการบริโภคอาหารแปรรูปและน้ำตาลทรายขาว
อ่านคำแนะนำและเคล็ดลับเพิ่มเติมจาก 5 วิธีง่ายๆ ในการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพให้ได้ผล