สิ่งที่มีคนกล่าวถึงกันมากล่าสุดคือ การแก้ปัญหาอาการติดเทคโนโลยีในเด็ก เรากำลังมองไปที่ว่าทำไมและมีวิธีการอย่างไรในการให้เด็กๆ กดปุ่มล็อคเอาท์ออกจากระบบ และกดปุ่มรีเฟรชในการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีของพวกเขาใหม่
ชาวออสเตรเลียมีการใช้โทรศัพท์รวมๆ กันเป็นจำนวนถึง 560 ล้านครั้งต่อวัน
หน้าจอและอุปกรณ์เทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อชีวิตสมัยใหม่ รวมถึงชีวิตของลูกๆ ของเราด้วย ตั้งแต่ทำการบ้านเรื่อยไปจนถึงอุปกรณ์ทีวี การเล่นเกม การเรียนรู้ผ่านแอพทางการศึกษา การติดต่อพูดคุยกับครอบครัวและเพื่อนๆ ซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้มีประโยชน์กับเรามากมาย
มีการศึกษาของ ดีลอยท์ (Deloitte) ในปี พ.ศ. 2560 ว่าชาวออสเตรเลียเป็นตัวแทนของผู้นำเรื่องการใช้สมาร์ทโฟน :
• ร้อยละ 88 มีความภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี
• ร้อยละ 35 เช็คโทรศัพท์ของพวกเขาภายใน 5 นาทีหลังตื่นนอน
• ร้อยละ 70 ใช้โทรศัพท์ในช่วงเวลารับประทานอาหารกับครอบครัวและเพื่อน
• คนใช้โทรศัพท์บ่อยขึ้นจากปีที่แล้ว 80 ล้านครั้ง คิดเป็นจำนวนรวมๆ กัน 560 ล้านครั้งต่อวัน หรือโดยเฉลี่ยมากกว่า 35 ครั้งต่อคนต่อวัน
มันเป็นเรื่องของความสมดุล
สำนักงานคณะกรรมการความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า เวลาที่เสียไปกับการใช้เทคโนโลยี สามารถนำมาเพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ความบันเทิง เสริมสร้างทักษะทางภาษาและการคำนวณ และพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวได้เลย
ในทางกลับกัน หากจัดการไม่ดี การใช้เทคโนโลยีก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและร่างกายของเรา เช่น มีอาการผิดปกติที่หลัง สมาธิสั้น คะแนนการเรียนลดลงอันเนื่องมาจากการให้เวลาและความตั้งใจกับการเรียนน้อยลง มีปัญหาการนอนหลับ และแยกตัวจากสังคม
จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่คุณจะต้องส่งเสริมให้ลูกของคุณใช้เวลาอย่างสมดุลระหว่างเทคโนโลยี กับการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม การเรียน การออกกำลังกาย และการพักผ่อน
สำหรับผู้ปกครองที่มีลูกหลานใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีมากเป็นพิเศษ อาจหมายถึง ต้องให้มีการพักเป็นช่วงใหญ่ๆ และหยุดการใช้เครื่องมือสื่อสารเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง
กล่าวกันว่า คุณจะมีแนวโน้มที่จะเผชิญการต่อต้านน้อยลง ถ้าคุณเริ่มต้นทีละน้อย - อย่างให้ ""งดใช้เทคโนโลยีในวันอังคาร"" เป็นเวลาหนึ่งเดือน หรือลดการใช้เทคโนโลยีเหลือหนึ่งชั่วโมงต่อวันเป็นเวลาสิบวัน
เด็กใช้เวลากับเทคโนโลยีเท่าไหร่จึงถือว่ามากไป?
แม้ว่าแต่ละครอบครัวจะแตกต่างกันไป แต่กรมอนามัย ได้ให้คำแนะนำในการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ประจำ โดยประมาณดังต่อไปนี้ (ไม่รวมเวลาที่ใช้ในการศึกษาผ่านจอภาพ) :
• อายุต่ำกว่า 2 ปี – ทารกและเด็กเล็กไม่ควรดูทั้งโทรทัศน์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ (ดีวีดี คอมพิวเตอร์ และเกมอิเล็กทรอนิกส์)
• 2 ถึง 5 ปี - น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงต่อวัน จำกัดเวลานั่งดูทีวีหรือใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ให้น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงต่อวัน
• 5 ถึง 17 ปี - น้อยกว่าสองชั่วโมงต่อวัน จำกัดการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อความบันเทิง (เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และการนั่งเล่นเกมอิเล็กทรอนิกส์) ให้ไม่เกินสองชั่วโมงต่อวัน
อีกวิธีในการพิจารณาว่าพวกเขาใช้เวลาออนไลน์มากเกินไปหรือไม่ คือสังเกตสัญญาณบ่งชี้ว่า มันได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อชีวิตของพวกเขา ซึ่งเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์แจงรายการสัญญาณเตือนไว้ดังนี้ :
• กิจกรรมทางออนไลน์รบกวนสุขภาพและคุณภาพชีวิตโดยทั่วไป
• ติดเว็บไซต์บางไซต์หรือเกมบางเกม
• โกรธเมื่อถูกขอให้หยุดพักจากกิจกรรมทางออนไลน์
• มีท่าทีกังวลหรือหงุดหงิดเมื่ออยู่ห่างจากคอมพิวเตอร์
• ใช้เวลากับกิจกรรมทางออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ
• ความสนใจด้านกิจกรรมทางสังคมลดลง เช่น การพบปะเพื่อน หรือการเล่นกีฬา
• ดูอ่อนเพลียมากเกินไป
• ผลการเรียนแย่ลงและทำการบ้านไม่เสร็จ
• เหมือนจะแยกตัวหรือเก็บตัว
• ดูแลสุขอนามัยของตัวเองน้อยลง
• พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในเชิงลบ
• ปวดหัว ปวดตา และนอนไม่หลับอยู่เรื่อยๆ