เพียงใช้เคล็ดลับง่ายๆ เหล่านี้ ก็จะช่วยดูแลหัวใจของคุณให้สมบูรณ์แข็งแรงได้
1. ระวังรอบเอวของคุณ
เพื่อสุขภาพของหัวใจ - การที่จะมีน้ำหนักตัวที่ดีต่อสุขภาพและคงไว้ให้ได้นั้นเป็นสิ่งสำคัญ ถึงแม้ว่าการที่จะทำให้น้ำหนักตัวเหมาะสมและรักษาไว้ให้คงที่อาจจะเป็นเรื่องยาก แต่ประโยชน์ด้านสุขภาพที่จะได้มานั้นสุดแสนจะคุ้มค่า! ซึ่งถ้าหากคุณมีน้ำหนักเกิน การลดน้ำหนักลงสัก 5-10 เปอร์เซ็นต์ อาจมีผลดีต่อสุขภาพหัวใจของคุณ รวมถึงผลดีต่อระดับความดันโลหิตและโคเลสเตอรอลด้วย
2. จำกัดการกินไขมันที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
ควรระวังปริมาณของไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ที่คุณบริโภคเข้าไป – โดยการจำกัดการบริโภคไขมันเหล่านี้ ซึ่งอาจมีประโยชน์ในการควบคุมโคเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับที่ดีต่อสุขภาพ สามารถลดไขมันเหล่านี้ได้ด้วยการเลาะไขมันออกจากเนื้อสัตว์หรือเลือกเนื้อไม่ติดมัน ซึ่งแหล่งของไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ที่ไม่ดีเหล่านี้พบได้บ่อย จาก มาการีน เบคอน เนย และครีม
3. อิ่มด้วยผักและผลไม้
ผักและผลไม้สดนั้นอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร นอกจากนี้ ยังประกอบด้วยสารพฤกษเคมีที่อาจช่วยดูแลให้หัวใจมีสุขภาพดี การรับประทานอาหารที่เต็มไปด้วยผัก ผลไม้ และถั่วฝักนั้นพบว่า สามารถช่วยป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ ได้มากมาย
ลองพยายามใช้ผักและผลไม้สดชนิดต่างๆ กัน ในอาหารของคุณให้มากขึ้น
อ่านเพิ่มเติม: พีระมิดอาหารใหม่ของอสเตรเลีย
4. เพิ่มการกินธัญพืชเต็มเมล็ด
ธัญพืชเต็มเมล็ดเป็นแหล่งที่ดีของใยอาหาร รวมทั้งวิตามินและเกลือแร่ ธัญพืชเต็มเมล็ดและผลิตภัณฑ์จากธัญพืชเต็มเมล็ด (ขนมปัง ซีเรียล ฯลฯ) รวมถึงทุกส่วนของเมล็ด จะให้ใยอาหารและสารอาหารสูงกว่าธัญพืชชนิดขัดสี
อาหารที่มีธัญพืชเต็มเมล็ดสูงอาจช่วยปกป้องสุขภาพหัวใจได้ ควรลองใช้ธัญพืชหลายๆ ชนิดในอาหารของคุณ – เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าว ข้าวบาร์เล่ย์ ข้าวโอ๊ต ข้าวไรย์ โพเลนต้า คูสคูส และควินัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตัวเลือกที่ดีต่อสุขภาพ
5. ลดเกลือ
การบริโภคเกลือในปริมาณมากๆ จะส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่เกลือมีอยู่ในอาหารเกือบทุกชนิดที่เรารับประทานเข้าไป และประมาณร้อยละ 75 ของเกลือที่เราบริโภคมาจากอาหารแปรรูป
สมาคมหัวใจแห่งชาติ ประเทศออสเตรเลีย แนะนำว่าเราควรจำกัดการบริโภคเกลือให้อยู่ที่ประมาณ 6 กรัมต่อวัน (ค่าเฉลี่ยการบริโภคเกลือของชาวออสเตรเลียประมาณ 9 กรัมต่อวัน) โดยคุณสามารถลดการบริโภคเกลือได้ด้วยการไม่เติมเกลือในขณะปรุงอาหารหรือช่วงรับประทานที่โต๊ะ และลดปริมาณอาหารแปรรูปลง
6. เครียดให้น้อยลง
ความเครียดทางอารมณ์ส่งผลเสียต่อสุขภาพหัวใจ สถานการณ์ที่มีความเครียดสูงสามารถนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของความดันโลหิต รวมทั้งยังมีผลเสียทางกายภาพอื่นๆ ที่ส่งผลต่อหัวใจด้วย การควบคุมความเครียดของคุณนั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพหัวใจโดยรวม มีเทคนิคคลายเครียดหลายแบบที่คุณสามารถลองทำได้เพื่อช่วยจัดการความเครียดของคุณ ได้แก่ การฝึกหายใจ การทำสมาธิ การเขียนบันทึก การผ่อนคลายด้วยมโนภาพ โภชนาการที่เหมาะสม การออกกำลังกาย และการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ควรลองทำแต่ละวิธี เพื่อดูว่าวิธีใดดีที่สุดสำหรับคุณ
7. ออกกำลังกาย
กิจกรรมที่ให้ร่างกายเคลื่อนไหวและได้ออกกำลังกายเป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพดี การออกกำลังกายยังสำคัญต่อสุขภาพหัวใจเช่นกัน เพราะการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังหลายขนิด รวมถึงโรคหัวใจด้วย ควรตั้งเป้าหมายออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน
8. ขยับมากขึ้นอีกนิด
อีกวิธีในการเพิ่มปริมาณกิจกรรมที่ให้คุณได้เคลื่อนไหวร่างกายในระหว่างวัน คือเพิ่มการเดินขึ้นอีกนิดและเพิ่มการเคลื่อนไหวให้มากยิ่งขึ้น มีหลายสิ่งที่คุณสามารถทำได้เพื่อเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้นตลอดทั้งวันโดยที่ไม่ต้องพยายามเลย
ค้นหาคำตอบ: ทำไมการนั่งจึงส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณ
ลองวิธีเหล่านี้:
• จอดรถให้ไกลจากประตูที่สุดเท่าที่ทำได้ และเดิน
• ใช้บันได แทนการใช้ลิฟท์หรือบันไดเลื่อน
• ออกไปเดินเล่นตอนพักกลางวัน
• ลุกจากโต๊ะทำงานทุกๆ ชั่วโมง และเดินรอบๆ อาคาร
9. เลิกสูบบุหรี่
เป็นสิ่งที่ชัดเจนจนแทบไม่ต้องเอ่ยเลยในปัจจุบัน แต่ถ้าคุณสูบบุหรี่ – ควรหยุดสูบ!
ถ้าคุณสูบบุหรี่ สิ่งที่ดีที่สุดที่คุณสามารถทำได้เพื่อสุขภาพของคุณ คือเลิกสูบบุหรี่เสีย ... ใช่แล้ว! มันอาจจะยากลำบากสักหน่อย แต่ประโยชน์ที่ได้กลับมานั้นประเมินค่าไม่ได้เลย เพราะการสูบบุหรี่ไม่เพียงแค่ทำลายปอดเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายให้กับหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย